วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

น้ำท่วม

เวิร์ดเพรส  ได้กล่าวถึงเรื่อง   น้ำท่วม   ดังนี้
ปัญหาและสาเหตุทั่วไปของการเกิดน้ำท่วม

                การพิจารณาในเรื่องการเกิดน้ำท่วมนั้นอาจพิจารณาปัจจัย 2 ประเด็น คือ พิจารณาปัญหาหรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดน้ำท่วม และพิจารณาถึงปัจจัยที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม

2.1. พิจารณาปัญหาหรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดน้ำท่วม แบ่งได้ 3 กรณี คือ จากน้ำฟ้า น้ำจากแหล่งเก็บกักน้ำ และน้ำทะเลหนุน

2.1.1 น้ำท่วมจากน้ำฟ้า (Precipitation) ซึ่งน้ำฟ้าหมายถึงสภาวะของน้ำที่ตกลงมาจากท้องฟ้า อาจจะเป็นลักษณะ ฝน หิมะ ละอองหรือลูกเห็บ โดยทั่วไปแล้วถือว่าฝนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัย และฝนที่มีปริมาณมากจนทำให้เกิดอุทกภัยได้นั้นมาจากพายุฝน ซึ่งแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท คือ

1). พายุฝนฟ้าคะนอง มีลักษณะเป็นลมพัดย้อนไปมา หรือพัดเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน อาจเกิดจากพายุที่อ่อนตัวและลดความรุนแรงของลมลง หรือเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องความกดอากาศต่ำ อาจไม่มีทิศทางที่แน่นอน หากสภาพการณ์แวดล้อมต่าง ๆ ของการเกิดฝนเหมาะสม ก็จะเกิดฝนตก มีลมพัด
2). พายุหมุนเขตร้อนต่าง ๆ เช่น เฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น และไซโคลน ซึ่งล้วนเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน และจะเกิดขึ้นหรือเริ่มต้นก่อตัวในทะเล หากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตร จะมีทิศทางการหมุนทวนเข็มนาฬิกา และหากเกิดใต้เส้นศูนย์สูตรจะหมุนตามเข็มนาฬิกา โดยมีชื่อต่างกันตามสถานที่เกิด กล่าวคือ  
2.1) พายุเฮอร์ริเคน (Hurricane) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดบริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น บริเวณฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน เป็นต้น รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก
2.2) พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย ประเทศญี่ปุ่น
2.3) พายุไซโคลน (Cyclone) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดในมหาสมุทรอินเดีย เหนือ เช่น บริเวณอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ เป็นต้น แต่ถ้าพายุนี้เกิดบริเวณทะเลติมอร์และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย จะเรียกว่า พายุวิลลี-วิลลี (willy-willy)
2.4) พายุโซนร้อน (Tropical storm) เกิดขึ้นเมื่อพายุเขตร้อนขนาดใหญ่อ่อนกำลังลง ขณะเคลื่อนตัวในทะเล และความเร็วที่จุดศูนย์กลางลดลงเมื่อเคลื่อนเข้าหาฝั่ง
2.5) พายุดีเปรสชัน (Depression) เกิดขึ้นเมื่อความเร็วลดลงจากพายุโซนร้อน ซึ่งก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองธรรมดาหรือฝนตกหนัก
3). พายุทอร์นาโด (Tornado) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดในทวีปอเมริกา มีขนาดเนื้อที่เล็กหรือเส้นผ่าศูนย์กลางน้อย แต่หมุนด้วยความเร็วสูง หรือความเร็วที่จุดศูนย์กลางสูงมากกว่าพายุหมุนอื่น ๆ ก่อความเสียหายได้รุนแรงในบริเวณที่พัดผ่าน เกิดได้ทั้งบนบก และในทะเล หากเกิดในทะเล จะเรียกว่า นาคเล่นน้ำ (water spout) บางครั้งอาจเกิดจากกลุ่มเมฆบนท้องฟ้า แต่หมุนตัวยื่นลงมาจากท้องฟ้าไม่ถึงพื้นดิน มีรูปร่างเหมือนงวงช้าง จึงเรียกกันว่า ลมงวง
2.1.2 น้ำจากแหล่งเก็บกักน้ำ หรือระบบควบคุม (Control System) เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝายทดน้ำ ฯลฯ โดยสาเหตุใหญ่ ๆ ที่ทำให้น้ำท่วมคือ (1) การระบายน้ำส่วนเกินในปริมาณมาก ทิ้งออกไปเพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยต่อแหล่งเก็บกักน้ำดังกล่าว กรณีนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มสองฝั่งลำน้ำด้านท้ายน้ำในลักษณะค่อย ๆ ท่วม และ (2) น้ำท่วมอันเกิดจากการวิบัติของระบบควบคุมดังกล่าว เช่น เขื่อนพัง อ่างเก็บน้ำแตก ประตูระบายน้ำไม่อาจทำหน้าที่ได้ กรณีนี้จะก่อให้เกิดน้ำหลาก มีความรุนแรงมากกว่าน้ำป่า และความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มากกว่าเช่นกัน

2.1.3 น้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุน เกิดในพื้นที่อยู่ติดทะเล ลักษณะการท่วมเกิดจากระดับน้ำทะเลยกตัวสูงในช่วงน้ำขึ้นแล้วท่วมพื้นที่โดยตรง กับน้ำทะเลไหลย้อนเข้าสู่ลำน้ำ เพิ่มระดับน้ำในลำน้ำที่ระบายน้ำจากลุ่มน้ำตอนบนขึ้นไป สูงขึ้นจนเอ่อออกท่วมพื้นที่สองฝั่ง และเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนดังกล่าว ซึ่งหากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้วก็จะยิ่งท่วมนานยิ่งขึ้น

2.2 พิจารณาถึงปัจจัยที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม   การเกิดน้ำท่วมโดยทั่วไปนั้นมักเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

        2.2.1 การเกิดน้ำท่วมขังในที่ราบลุ่ม เนื่องมาจากความไม่สมดุลระหว่าง ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำฝนที่ซึมลงสู่ใต้ดิน และ ปริมาณน้ำผิวดินที่ไหลหรือระบายออกจากพื้นที่นั้น ถ้าปริมาณน้ำฝน มากกว่าปริมาณน้ำฝนที่ซึมลงสู่ใต้ดิน และปริมาณน้ำผิวดินที่ไหลหรือระบายออกจากพื้นที่รวมกัน ก็จะเกิดการท่วมขัง ความรุนแรงของการท่วมขังไม่มากนัก ค่อยเป็นค่อยไป แต่อาจกินเวลานานกว่าจะระบายน้ำออกได้หมด
ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการระบายน้ำจากพื้นที่เกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
1). การสร้างถนน การวางผังเมืองไม่เหมาะสม สร้างเป็นแหล่งชุมชน แหล่งอุตสาหกรรม ฯลฯ ขวางทางน้ำไหลหรือพื้นที่ระบายน้ำตามธรรมชาติ แล้วไม่สร้างอาคารระบายน้ำ เช่น ท่อระบายน้ำ คูหรือคลองระบายน้ำ ที่เหมาะสมเพียงพอกับการระบายน้ำ
2). แผ่นดินทรุด หรือหน้าดินถูกกัดเซาะชะล้าง ทำให้พื้นที่ยิ่งต่ำลงไปกว่าเดิม ทำให้เกิดน้ำท่วมขังมากและนานขึ้น เพราะการระบายน้ำออกไปจากพื้นที่ไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน
1). ต้องวางผังเมืองให้เหมาะสม รักษาระบบระบายน้ำตามธรรมชาติให้คงไว้เพื่อใช้ระบายน้ำจากพื้นที่ แต่หากมีความจำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งชุมชน แหล่งอุตสาหกรรม ฯลฯ ขวางทางน้ำไหลหรือพื้นที่ระบายน้ำตามธรรมชาติ จะต้องก่อสร้างระบบระบายน้ำทดแทนส่วนที่สูญไป
2). การก่อสร้างถนนจะต้องวางระบบการระบายน้ำ เช่น ท่อลอด สะพาน ที่เหมาะสมทั้งตำแหน่งที่ตั้ง จำนวนและขนาด
3). ในพื้นที่ที่มีการทรุดต้องไม่สูบน้ำใต้ดินมาใช้โดยปราศจากการควบคุม ต้องมีการป้องกันการกัดเซาะชะล้างหน้าดินออกจากพื้นที่ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น การใช้หญ้าแฝก การปลูกพืชคลุมดินเป็นต้น

                2.2.2 การเกิดน้ำป่าบริเวณป่าเขาที่มีความลาดชันสูง การตัดไม้ทำลายป่าทำให้ปราศจากพืช ต้นไม้ปกคลุมดิน ที่จะช่วยดูดซับน้ำฝนเอาไว้และช่วยปกคลุมยึดผิวดิน ถ้าปริมาณฝนในพื้นที่รับน้ำมีมาก จนทำให้ปริมาณน้ำผิวดินที่ระบายออกจากพื้นที่มีมาก ด้วยอัตราที่รุนแรงเรียกว่า น้ำป่า น้ำก็จะพัดเอาเศษต้นไม้ กิ่งไม้ ตะกอน ดิน ทราย และหินลงมาด้วย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่บริเวณท้ายน้ำเป็นอย่างมาก อุทกภัยจากน้ำป่ามีความรุนแรงกว่าประเภทแรก และจำเป็นต้องใช้เวลานานในการแก้ไขจนกว่าพื้นที่นั้นจะกลับฟื้นคืนสภาพดังเดิมได้
แนวทางป้องกันและแก้ไขจากสาเหตุนี้
                1). นอกจากไม่ตัดไม้ทำลายป่าแล้ว ต้องเร่งปลูกต้นไม้ปลูกป่าทดแทนส่วนที่เสียหายถูกทำลายไป
                2). การสร้างระบบป้องกันการกัดเซาะพังทลายของดินลาดเชิงเขา
                3). สร้างแหล่งน้ำขนาดต่างๆ ตั้งแต่ฝายแม้ว แหล่งน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำให้เก็บกักเอาไว้ ไม่ปล่อยลงมาอย่างทันทีทันใดจนท่วมพื้นที่ตอนล่าง หรือไหลทิ้งออกจากลุ่มน้ำและออกไปสู่ทะเล นอกจากช่วยป้องกันภัยน้ำท่วมแล้วยังเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ด้วย
               
                2.2.3 น้ำล้นตลิ่งของลำน้ำ เนื่องจาก  (1) ปริมาณและอัตราน้ำหลากที่เกิดขึ้นในบริเวณต้นน้ำ มีมากเกินกว่าความสามารถของแม่น้ำในบริเวณดังกล่าวที่จะรับได้  (2) ลำน้ำมีหน้าตัดเล็ก แคบ ตื้นเขิน (3) มีสิ่งกีดขวางในลำน้ำ เช่น ต้นไม้ วัชพืช การปิดกั้นลำน้ำ (4) การมีระบบควบคุมในลำน้ำ  เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ หรือประตูระบายน้ำฯ โดยปกติแล้วระบบควบคุมดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยควบคุม ป้องกันและลดความรุนแรงของอุทกภัย แต่หากมีการออกแบบก่อสร้างไม่เหมาะสม หรือมีการบริหารจัดการน้ำไม่ดี ก็จะเป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยได้เช่นกัน  ถ้าเป็นลำน้ำแม่น้ำขนาดเล็กและปริมาณของน้ำหลากไม่มากความรุนแรงและความเสียหายอันเกิดขึ้นจากอุทกภัยอาจไม่มากนัก แต่ถ้าเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ที่ปราศจากระบบควบคุมจะก่อให้เกิดความเสียหายมากและเป็นวงกว้าง
แนวทางป้องกันและแก้ไขจากสาเหตุนี้
1). การที่มีฝนตกหนักมากจนเกินความสามารถที่ลำน้ำจะรองรับไว้ได้เป็นเหตุที่ป้องกันได้ถ้ามีการศึกษาเกี่ยวกับลุ่มน้ำต่างๆ ดีพอ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำ ปรับปรุงขุดลอกลำน้ำ ให้มีความเหมาะสมที่จะรองรับปริมาณฝนสูงสุดที่จะเกิดขึ้นได้
2). การตรวจสอบเพื่อกำจัดสิ่งกีดขวางในลำน้ำทั้งช่วงก่อนฤดูน้ำหลาก และช่วงที่มีน้ำหลากแล้ว
3). การสร้างระบบควบคุมที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างฝายทดน้ำในลำน้ำอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุทกภัยได้ถ้าออกแบบไม่เหมาะสม
4). มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ให้ระบบควบคุมอันได้แก่ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ หรือประตูระบายน้ำฯ ให้เป็นประโยชน์ในการป้องกันการเกิดอุทกภัย โดยไม่เป็นสาเหตุของการเกิดอุทกภัยเสียเอง

        2.2.4 น้ำท่วมอันเกิดจากการวิบัติของระบบควบคุม เช่น เขื่อนพัง อ่างเก็บน้ำแตก ประตูระบายน้ำไม่อาจทำหน้าที่ได้ จะก่อให้เกิดน้ำหลาก มีความรุนแรงมากกว่าน้ำป่า และความเสียหายที่เกิดขึ้นก็
มากกว่าเช่นกัน
แนวทางป้องกันและแก้ไขจากสาเหตุนี้
        1). ต้องมีการตรวจสอบสภาพอาคารของระบบควบคุมอย่างเป็นระบบ
        2). ต้องมีการดูแลรักษา ซ่อมแซมและปรับปรุงระบบควบคุมให้มีสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความปลอดภัย
        3). ต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี วางแผนการเก็บกักน้ำ และการพร่องน้ำระบายน้ำสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่ควรจะเกิด

        2.2.5 น้ำทะเลหนุน โดยระดับน้ำทะเลยกตัวสูงในช่วงน้ำขึ้นแล้วเข้าท่วมพื้นที่ริมฝั่งหรือปากอ่าวโดยตรง หรือเกิดน้ำทะเลไหลย้อนเข้าสู่ลำน้ำทำให้ระดับน้ำในลำน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนเอ่อออกท่วมพื้นที่สองฝั่ง ถ้าน้ำในลำน้ำที่ไหลลงมาปะทะมีปริมาณมากและรุนแรง จะเป็นการเพิ่มระดับน้ำด้านเหนือน้ำอย่างมากและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งถ้าเป็นตรงจุดคอขวดของลำน้ำแล้วน้ำท่วมจากสาเหตุนี้ก็จะมีความรุนแรง และเป็นไปอย่างรวดเร็ว สภาพของความเสียหายจะเป็นไปอย่างกว้างขวาง และมากมาย นอกจากนี้ยังเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนขึ้นไปซึ่งหากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้วก็จะยิ่งท่วมนานยิ่งขึ้น
แนวทางป้องกันและแก้ไขจากสาเหตุนี้
                1). ต้องมีระบบควบคุมน้ำทะเลหนุน ได้แก่ ประตูระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ และมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี
                2). การก่อสร้างแหล่งน้ำ เพื่อรองรับน้ำที่ระบายจากลุ่มน้ำตอนบนในช่วงน้ำทะเลหนุนไว้ก่อนที่จะระบายออกสู่ทะเล (แก้มลิง)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น