วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

วิธีแก้ปัญหาจากการถูกรังแก

taamkru.com
วิธีแก้ไขปัญหาการถูกรังแก
ปัญหาลูกถูกรังแกมีสาเหตุและวิธีการแก้ไขอย่างไร?
จากพัฒนาการทางอารมณ์ เด็กวัย 3-5 ขวบ มักจะเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ และจะแสดงอารมณ์อย่างเปิดเผยและมีอิสระเต็มที่ เด็กวัยนี้มักกลัวอย่างสุดขีด อิจฉาอย่างไม่มีเหตุผล โมโหร้าย การที่เด็กมีอารมณ์เช่นนี้อาจจะเป็นเพราะเด็กมีประสบการณ์กว้างขึ้น อารมณ์จึงเกิดขึ้นเพราะเงื่อนไขทางสังคม ตั้งแต่สังคมภายในบ้านจนกระทั่งถึงสังคมภายนอกบ้าน เด็กเคยได้รับแต่ความรักความเอาใจใส่จากพ่อแม่และผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เมื่อต้องพบกับคนนอกบ้านซึ่งไม่สามารถเอาใจใส่เด็กได้เท่าคนในบ้าน หรือเหมือนเมื่อยังเล็ก เด็กจึงรู้สึกขัดใจ และพยายามปรับตัว เพื่อต้องการให้เป็นที่รักและเป็นที่ยอมรับของบุคคลข้างเคียง การแสดงออกเพื่อเรียกร้องความสนใจหรือระบายความรู้สึกของตนเอง จึงอาจเกิดขึ้นได้โดยแสดงออกกับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นการง่ายที่สุด เพราะอยู่ในวัยเดียวกันและใกล้ชิดกัน เมื่อการแสดงออกรุนแรงมากขึ้นกลายเป็นการรังแกกันขึ้นมา และหากการรังแกกันที่ไม่มีบุคคลอื่นเช่น ครู หรือพ่อแม่มาช่วยแก้ไขปัญหา ฝ่ายถูกรังแกก็จะมีปัญหาทางจิตใจมากขึ้น และเด็กที่รังแกผู้อื่นก็จะได้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในการกระทำของตนเองแบบผิดๆ และเกิดความฮึกเหิมรังแกบุคคลที่อ่อนแอกว่าต่อไป จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาสาเหตุให้ชัดเจน เพื่อการเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง และสอนให้ลูกเผชิญปัญหาด้วยตนเองเมื่อเกิดปัญหาการถูกรังแกขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า ตลอดจนการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่ดีให้ลูกเพื่อการเตรียมเผชิญกับปัญหาในอนาคตต่อไป ซึ่งสรุปสาเหตุของปัญหาได้ดังนี้
·         เด็กชอบรังแกเพื่อนเพราะความสนุกสนานและขาดทักษะในเรื่องความเห็นอกเห็นใจ ขาดทักษะในการรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่น
·         เด็กชอบรังแกเพื่อนเพราะว่าเด็กนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรง จึงซัมซับเอาพฤติกรรมรุนแรงมาเป็นนิสัยที่เคยชินเมื่อกระทำต่อผู้อื่นแล้วก็ไม่สามารถรับทราบได้ว่าเพื่อนๆ จะรู้สึกอย่างไรบ้าง
·         เด็กที่ไม่ได้รับการแก้ปัญหาเมื่อถูกรังแก ไม่ได้รับการปกป้องจากการถูกรังแก จึงต้องป้องกันตนเองด้วยการรังแกผู้อื่นก่อน
·         เด็กรังแกเพื่อนเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากบุคคลรอบข้างไม่ว่าจะเป็นครู พ่อแม่ หรือบุคคลที่ต้องการให้มาใส่ใจตนเองเป็นพิเศษ
·         เด็กบางคนเมื่อรังแกผู้อื่นแล้วรู้สึกมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น รู้สึกตนเองเข้มแข็ง มีพลังมีอำนาจ ต้องการเป็นที่ยอมรับจากเพื่อนๆ
·         เด็กบางคนช่างฟ้องแม้ถูกรังแกนิดหน่อย เพื่อยืมมือคุณครูเพื่อลงโทษเพื่อนคนอื่นๆ
·         เด็กขาดทักษะในการจัดการปัญหาเมื่อถูกรังแก และแก้ปัญหาโดยการร้องเสียงดังแม้ถูกแหย่เพียงเล็กน้อย หรือบางครั้งเพื่อนมาหยอกล้อตามปกติ
·         เด็กที่โรงเรียนซึ่งดูแลไม่ทั่วถึงมักซึมซับการจัดการปัญหาที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนำคนที่รังแกมาตี และเอาใจเด็กคนที่ร้องงอแงโดยไม่หาสาเหตุที่แท้จริง ทำให้เด็กมีพฤติกรรม สร้างสถานการณ์คือ สร้างให้ตัวถูกรังแกเพื่อให้เกิดวิธีจัดการปัญหาดังกล่าว
·         เด็กบางคนไม่ได้ตั้งใจแกล้งแต่เป็นเพราะรำคาญ เช่น รำคาญเสียงงอแงของเพื่อนหรือการปะทะที่เกิดจากความไม่ต้องใจ เช่น เดินเบียด หรือเดินเฉี่ยวกันเพียงเล็กน้อย
·         เด็กเกิดการอิจฉากันจึงสนองความรู้สึกทางอารมณ์ เพื่อทดแทนความรู้สึกของตนเองโดยการทำร้าย รังแกผู้อื่น
·         เด็กถูกวางเงื่อนไขในการแสดงพฤติกรรมทางบวกมากเกินไป ทำให้เด็กเก็บกดและแสดงความเกเรในทางอื่น แนวทางปฏิบัติสำหรับพ่อแม่ เมื่อต้องประสบกับปัญหาลูกถูกรังแก
·         พ่อแม่ควรแจ้งกับทางโรงเรียนว่าลูกถูกรังแก และขอความช่วยเหลือจากครูและทางโรงเรียนให้ช่วยกันยุติการรังแกกัน ไม่ควรลังเลใจที่จะแจ้งให้ครูทราบ เพราะกลัวว่า เมื่อแจ้งทางโรงเรียนแล้วสถานการณ์จะแย่ลงกว่าเดิม หรืออายที่ลูกถูกรังแก กลัวจะถูกมองว่าปกป้องลูกของตนเองมากเกินไป หรือเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของลูกที่ต้องแก้ปัญหาหยุดการถูกรังแกด้วยตนเอง เพราะเด็กต้องการความช่วยเหลือเมื่อถูกรังแก
·         พ่อแม่ควรศึกษานโยบายและความรับผิดชอบของโรงเรียน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหา เพราะเด็กทุกคนควรได้รับการปฏิบัติด้วยความสุภาพ และการเคารพในศักดิ์ศรีจากเพื่อนนักเรียนและบุคลากรของโรงเรียน ครูมีหน้าที่รับประกันให้เกิดบรรยากาศการเรียนที่ปลอดภัย ในบางประเทศมีกฎหมายเพื่อบังคับให้โรงเรียนมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านการรังแกในโรงเรียนแล้ว
·         พ่อแม่ควรร่วมมือกับโรงเรียนเพื่อแก้ไขปัญหา ถ้าลูกบอกว่าเขากำลังถูกรังแก หรือสงสัยว่าลูกอาจถูกรังแกที่โรงเรียน พ่อแม่ควรจะบันทึกเหตุการณ์ที่ลูกได้เล่าให้ฟัง จดชื่อเด็กที่เกี่ยวข้อง วันที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นเพื่อให้มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่สามารถนำมาอ้างอิงได้เมื่อจำเป็น ขอพบครูประจำชั้นของลูกทันทีและอธิบายความห่วงใยหรือไม่สบายใจด้วยท่าทางเป็นมิตร หลีกเลี่ยงการกล่าวโทษหรือตำหนิกัน ถามครูว่าได้สังเกตเห็นเหตุการณ์อะไรบ้าง ครูได้ทราบถึงหรือสงสัยว่ามีการรังแกกันเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ ลูกกับนักเรียนคนอื่นในห้องได้หรือไม่ ครูได้สังเกตเห็นว่าลูกถูกเพิกเฉยจากเพื่อนๆ หรือถูกปล่อยให้อยู่โดดเดี่ยวบ้างหรือไม่ เช่น ไม่ได้ไปเล่นในสนามโรงเรียน หรือร่วมกิจกรรมที่นักเรียนคนอื่นๆ ทำด้วยกัน ถามครูว่ามีความตั้งใจที่จะสืบสวนหรือช่วยยุติการรังแกหรือไม่อย่างไร นัดพบคุณครูเพื่อติดตามความคืบหน้า หากไม่มีอะไรดีขึ้นหลังจากที่ได้รายงานการรังแกให้ครูทราบ ให้ขอพบครูอีกครั้ง จดบันทึกรายละเอียดต่างๆ ทุกครั้งเมื่อพูดคุยกับครูและบุคลากรของโรงเรียน
·         สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก พยายามกระตุ้นให้ลูกได้ใช้เวลาเล่นกับเพื่อนที่หลากหลาย และสร้างความมั่นใจให้ตัวลูก เพื่อลูกจะได้เผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ฝึกแก้ปัญหา และรับรู้อารมณ์เพื่อนๆ ที่ต่างกัน หรืออาจลูกพาไปร่วมกิจกรรมอื่นๆ นอกบ้านบ้าง เพื่อได้หาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันเมื่อลูกเผชิญปัญหา
อ้างอิง

                Taamkru.2556.วิธีแก้ไขปัญหาการถูกรังแก.[ออนไลน์] เข้าถึง http://taamkru.com/th/%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%81/ สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556

นาย วรัญชิต   สมิตชาติ  ม.6/3  เลขที่ 8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น